ส่องกล้องมองคำว่า"ทุกข์"
"ความทุกข์ทั้งหลายที่เป็นความทุกข์ทางใจนี้ เป็นเพราะว่าเรามองดูปรากฏการณ์ในชีวิตด้วยความไม่ชัดเจน"
"ยังไม่สนใจธรรมะ เพราะชีวิตยังไม่มีทุกข์"
คนจำนวนมากคิดเช่นนี้ เพราะคำว่า "ทุกข์" นั้นฟังดูเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสในชีวิต ทั้งที่ความจริงแล้ว ความหมายของคำนี้ในธรรมะของพุทธศาสนามีความละเอียดอ่อนยิ่งนัก หากศึกษาจริงๆ แล้วจะรู้สึกทึ่งและอัศจรรย์ใจในอัจฉริยภาพของตัวผู้ค้นพบยิ่งนัก
จะรู้สึกอย่างไรหากบอกว่าในทุกๆ จังหวะและท่วงทำนองของการดำเนินชีวิตมีทุกข์แฝงอยู่ทุกขณะ
ไม่รู้จัก-อย่ารีบบอกว่าไม่มี
อย่าเพิ่งเถียงถ้ายังไม่ได้คำอธิบายในเรื่องนี้ของ ดร.ระวี ภาวิไล ที่ส่องกล้องมองดูคำว่าทุกข์ได้ละเอียดไม่แพ้การส่องกล้องดูดาวบนท้องฟ้าเลย
"คำว่าปัญหากับความทุกข์ในทางพระพุทธศาสนาใช้แทนกันได้ คำว่าปัญหาเป็นคำสมัยใหม่ เราจะพิจารณาได้ว่าสิ่งที่เราเรียกว่าปัญหานี้คือ ความทุกข์นั่นเอง แต่เวลาพูดความทุกข์จะดูเหมือนหนัก พูดคำว่าปัญหาเป็นเรื่องทันสมัย แล้วเราจะพบว่าสิ่งที่เราต้องแก้ก็คือ ความไม่สะดวกสบายที่ทนได้ยากนั่นเอง
"ตามที่บอกว่าชีวิตเป็นความทุกข์เป็นปัญหานั้น ไม่ใช่ว่าการกล่าวเช่นนั้นเป็นการมองโลกในแง่ร้าย แต่เป็นการกล่าวถึงสภาวะที่เป็นจริงในชีวิตของเรา"
ไม่เชื่อลองฟังต่อไปได้
"นับตั้งแต่เรารู้สึกตัวลืมตาขึ้นวันหนึ่งๆ จะพบปัญหาที่ต้องแก้ถัดกันไป แก้ปัญหานั้นปัญหาใหม่ก็เข้ามาเรื่อย ถ้าจะสังเกตตั้งแต่เช้า ปัญหาทำอย่างไรเราจะมาถึงที่ทำงานได้โดยเรียบร้อย แม้เมื่อถึงที่ทำงานเราจะพบปัญหารออยู่บนโต๊ะ จะต้องแก้อันนั้นอันนี้เรื่อยไป ชีวิตก็จะเป็นอย่างนี้
"ปัญหาหรือความทุกข์ทางกายนี้เป็นส่วนหนึ่ง แต่ส่งที่น่าจะสังเกตได้ก็คือว่า ส่วนใจมันพลอยไปกับกายมากน้อยแค่ไหน ทั้งที่ส่วนใจก็มีความทุกข์ทางใจอยู่แล้ว คือความเศร้าโศก ความคับแค้นใจ ซึ่งส่วนของจิตใจนี้อาจจะเกิดขึ้นเพราะความทุกข์ทางกายทำให้เกิด หรืออาจเกิดแม้ความทุกข์ทางกายไม่มีก็ได้
"นับเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนในสาเหตุ และสาเหตุเหล่านี้ทางพฤติกรรมสามารถวิเคราะห์ได้ว่าเกิดขึ้นมาอย่างไร แล้วก็รู้หนทางที่จะบรรเทามันลงไป"
ในบรรดาความทุกข์ที่แบ่งออกเป็นทางกายและทางใจนั้น อ.ระวีบอกว่า
"ความทุกข์ทางใจเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น แล้วเราจะพบว่ามนุษย์ได้สร้างกลไกขึ้นทั้งในตัวเองและสังคม ทำให้เกิดความกดดันและความทุกข์ทางใจขึ้น โดยคนส่วนใหญ่อาจจะมองข้ามไป หรืออาจจะมองไม่เห็น มันก็กลายเป็นปัญหาหรือเป็นทุกข์ ความทุกข์ทางใจเหล่านี้เป็นสิ่งที่การอบรมและการฝึกฝนใจสามารถทำให้มันระงับไปได้"
ความทุกข์ทางใจเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น-เป็นประเด็นที่ควรให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นวันหนึ่งๆ คนเราทุกข์ทางใจไปโดยสิ้นเปลืองไม่ใช่น้อย
บอกแค่นี้คงไม่ทำให้คิ้วที่ขมวดอยู่คลายออกไปได้ ต้องรับรู้การแจกแจงปฏิบัติการของสิ่งที่เรียกว่าทุกข์เสียก่อน
ทุกข์กาย-ทุกข์ใจแน่
กายไม่ทุกข์-ใจทุกข์ไปล่วงหน้า
"ตัวอย่างความพัวพันระหว่างทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจที่อาจจะได้พบกันในชีวิตประจำวัน สมมุติว่าเราเป็นเด็กไม่สบายแล้วไปหาหมอ หมอบอกว่าเราเป็นไข้หวัด ต้องฉีดยา ถ้าเด็กคนนั้นเคยฉีดยามาหนหนึ่งแล้ว พอบอกต้องฉีดยาอีกมันเกิดทุกข์ขึ้นมาทันที ความทุกข์ที่ได้รับฟังว่าต้องเอาเข็มมาแทงลงไปในเนื้อ ในขณะนั้นทุกข์ทางกายยังไม่ได้เกิด แต่ทุกข์ทางใจเกิดขึ้นแล้ว อาจจะเริ่มมีอาการเป็นทุกข์ เริ่มน้ำตาคลอ พอหมอเอาเข็มฉีดยาดูดยาออกมาจากหลอดก็เริ่มจะมีความทุกข์ทางกายบ้าง แต่ไม่เจ็บ น้ำตาไหลได้
"เราเป็นผู้ใหญ่รู้สึกแต่คงไม่ถึงกับน้ำตาไหล เห็นหมอทำอย่างนั้นเราก็เริ่มรู้สึก หมอเอาเข็มฉีดยามาบีบยาให้ยามันไล่ แล้วก็เอามาจรดลง แล้วลองนึกทบทวนดูว่าเรารู้สึกอย่างไร จะรู้สึกไม่สบายใจ หมอเริ่มกดเข็ม บางครั้งเราก็มอง บางครั้งเราก็ไม่อยากมอง ลองมองดูและลองพิจารณาดูตอนที่เข็มมันจรด ความทุกข์ทางกายยังไม่เกิดขึ้น แต่เรามีความไม่สบายใจ พอหมอกดเข็มเข้าไปในเนื้อเรา นึกว่าเราเจ็บ แต่ที่จริงถ้าเราเพ่งใจลงไปในขณะเข็มกดลงไปในเนื้อ จะพบว่ามันยังไม่เจ็บ ความทุกข์ทางกายยังไม่มี แต่เมื่อเข็มมันลงไปลึกพอประมาณแล้ว และเมื่อหมอเริ่มกดยาเข้าไป ความเจ็บมันจะมี
"ถ้ามีสติอยู่กับปัจจุบัน เจ็บที่แล้วไปอย่าไปนึกถึงมันอีก เจ็บที่กำลังเจ็บดูมัน เจ็บที่ยังไม่มา อย่าเพิ่งไปเจ็บก่อน เราจะพบว่าความเจ็บได้เป็นทุกข์ก้อนใหญ่ที่เราจะต้องแบกไว้ แต่ความเจ็บนั้นมันเป็นชั่วขณะๆ พอหมอถอนเข็มออกแล้วขยี้ตอนนั้นเราจะเจ็บมากชั่วขณะ แล้วก็จะชา แต่ถ้าเราไม่ทำอย่างนั้นจะรู้สึกว่าความเจ็บจริงๆ กับความที่ใจเราเป็นทุกข์มันปนเปกันไปหมด ไม่รู้ส่วนไหนเป็นทุกข์ทางกาย ส่วนไหนเป็นทุกข์ทางใจ
"ถ้าเป็นเด็ก เด็กจะร้องก่อนเข็มจะถูก เมื่อถูกเข็มแทงก็ร้องลั่น พอหมอถอนเข็มออกก็ยังร้องอยู่ เพราะโกรธหมอ นี่คือตัวอย่างที่ยกขึ้นมาเพื่อให้เห็นกลไกของสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์"
"ความทุกข์ทั้งหลายที่เป็นความทุกข์ทางใจนี้ เป็นเพราะว่าเรามองดูปรากฏการณ์ในชีวิตด้วยความไม่ชัดเจน ทำอย่างไรจะเห็นสภาวะชัดเจน ทำอย่างไรจะรู้ทัน"
โจทย์นี้หาคำตอบได้ไม่ยาก!
**********
คอลัมน์ ร้อยเหลี่ยมพันมุม
โดย วีณา โดมพนานคร
มติชนรายวัน วันอาทิตย์ ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10487
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น