วันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

คุมตัวเอง....ก่อนคุมเวลา



แม้ว่า “ตารางเวลา” จะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยขับเคลื่อนเวลาอันจำกัดได้อย่างคุ้มค่า
ทว่า..ตารางเวลาจะไม่ช่วยอะไร หากเราไม่มุ่งมั่นจริงจังในการ
“ทำตาม”
หรือ “ควบคุม” ให้ทำตามเวลาที่วางไว้ให้บรรลุผล

แท้จริงแล้ว เป็นความจริงที่ว่า คนส่วนใหญ่มักล้มเหลวในการทำตามตารางเวลา

ด้วยเหตุผลนานัปประการอาทิ มีงานด่วน งานเร่ง งานสำคัญเข้ามาแทรก
ทำให้เราไม่ได้ทำตามตารางเวลา ทำงานไม่เสร็จตามเวลาที่กำหนด
ทำให้ไม่อาจทำงานอื่นตามตารางเวลาถัดไปได้
หรือเกิดความเหนื่อยล้าเมื่อถึงเวลาที่ต้องทำจึงตัดสินใจพักผ่อน

ซึ่งคนหลายคน เมื่อไม่สามารถทำตามเวลาที่กำหนดได้บ่อยครั้งเข้า
ก็ตัดสินใจโยนตารางเวลาที่สู้อุตสาห์วางแผนอย่างดีทิ้งไป
กลับไปใช้ชีวิตตามความเคยชิน ให้สถานการณ์เป็นตัวขับเคลื่อนไป
จำไว้ว่า การทิ้งตารางเวลา
เท่ากับ ทิ้งความสำเร็จและฉวยคว้าความล้มเหลวเข้ามากอดไว้

ดังนั้น หากเรายังคงยึดมั่นที่จะเดินในเส้นทางความสำเร็จ
เราจำเป็นต้องเอาชนะเวลา เอาชนะอุปสรรคกีดขวางการใช้เวลา
และควบคุมให้เราทำสิ่งต่าง ๆ บรรลุตามตารางเวลาที่วางไว้

ข้อแนะนำที่สำคัญประการหนึ่ง นั่นคือ
การเอาชนะตัวเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีวินัย และ การรู้จักบังคับตนเอง
ทั้งสองเรื่องนี้จำเป็นที่ต้องฝึกฝนจนเป็นนิสัย อันได้แก่
คิดที่จะเอาชนะอุปสรรคเสมอ เราต้องเริ่มต้นชนะที่ “ความคิด” ก่อน
โดยตั้งใจมุ่งมั่นว่าจะไม่ยอมให้อุปสรรคใดมากีดขวางแผนงานความสำเร็จที่ตั้งไว้
แสดงออกโดยการบังคับตนเองให้ทำตามตารางเวลาที่วางไว้
แม้ในช่วงที่เราไม่อยากทำ แม้ในช่วงที่เกิดปัญหา
แต่จะไม่ยอมแพ้ตัวเอง
ตรงกันข้ามกลับยิ่งทำให้คิดหาวิธีที่ฉลาดขึ้นในการใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ

ฝึกทำอย่างต่อเนื่องจนเป็น “นิสัย”
กิจกรรมบางอย่างเราทำได้โดยไม่รู้สึกลำบากใจอะไร
เพราะเป็นสิ่งที่ชอบอยู่แล้ว แต่สำหรับกิจกรรมที่ไม่ชอบ
จะทำอย่างไรที่จะควบคุมตัวเองให้ทำกิจกรรมนั้นได้
ผมขอแนะนำว่าในภาคปฏิบัตินั้น สิ่งใดที่เราปรารถนาจะทำจนเป็นนิสัยของเรา
เราต้องควบคุมตัวเองให้ทำสิ่งนั้นอย่างต่อเนื่องประมาณ 45 วัน
แล้วสิ่งนั้นจะฝังลงไปในชีวิตของเราได้ เช่น
ในเรื่องเวลาตื่นนอน การออกกำลังกาย เป็นต้น
จำไว้ว่า...การที่เราไม่รู้จักควบคุมตนเองในเรื่องเล็กน้อย
จะนำไปสู่การเพาะนิสัยขาดวินัยซึ่งเป็นผลเสียต่อชีวิตในระยะยาว

ตารางเวลาที่เราวางแผนไว้อาจกลายเป็นเพียงเศษกระดาษที่ไร้ค่าแผ่นหนึ่ง
หากเราขาดความมุ่งมั่นตั้งใจจริง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความมีวินัยและการรู้จักบังคับตนเอง
ให้ทำตามตารางเวลาอย่างต่อเนื่องจนเป็นนิสัย
รวมทั้งการควบคุมการใช้เวลาในแต่ละวันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ซึ่งจะทำได้นั้น
ต้องอาศัยการใช้เวลาอย่างชาญฉลาดด้วย

ขอขอบคุณ....ที่มา : งานวันนี้  ::  ลานธรรมจักร

วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ไม่เคยมีใครทุกข์ใจเพียงลำพัง









ความสุขที่ถูกมองข้าม


ความสุขที่ถูกมองข้าม
(พระไพศาล วิสาโล)
คุณเป็นคนหนึ่งหรือไม่ที่เชื่อว่า ยิ่งมีเงินทองมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น ความเชื่อดังกล่าวดูเผิน ๆ ก็น่าจะถูกต้องโดยไม่ต้องเสียเวลาพิสูจน์ แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ประเทศไทยน่าจะมีคนป่วยด้วยโรคจิตน้อยลง มิใช่เพิ่มมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่รายได้ของคนไทยสูงขึ้นทุกปี ในทำนองเดียวกันผู้จัดการก็น่าจะมีความสุขมากกว่าพนักงานระดับล ่าง ๆ เนื่องจากมีเงินเดือนมากกว่า แต่ความจริงก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป
ไม่นานมานี้มหาเศรษฐีคนหนึ่งของไทยได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว ่า เขารู้สึกเบื่อหน่ายกับชีวิต เขาพูดถึงตัวเองว่า "ชีวิต(ของผม)เริ่มหมดค่าทางธุรกิจ" ลึกลงไปกว่านั้นเขายังรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความหมาย เขาเคยพูดว่า "ผมจะมีความหมายอะไร ก็เป็นแค่....มหาเศรษฐีหมื่นล้านคนหนึ่ง" เมื่อเงินหมื่นล้านไม่ทำให้มีความสุข เขาจึงอยู่เฉยไม่ได้ ในที่สุดวิ่งเต้นจนได้เป็นรัฐมนตรี ขณะที่เศรษฐีหมื่นล้านคนอื่น ๆ ยังคงมุ่งหน้าหาเงินต่อไป ด้วยความหวังว่าถ้าเป็นเศรษฐีแสนล้านจะมีความสุขมากกว่านี้ คำถามก็คือ เขาจะมีความสุขเพิ่มขึ้นจริงหรือ ?

คำถามข้างต้นคงมีประโยชน์ไม่มากนักสำหรับคนทั่วไป เพราะชาตินี้คงไม่มีวาสนาแม้แต่จะเป็นเศรษฐีร้อยล้านด้วยซ้ำ แต่อย่างน้อยก็คงตอบคำถามที่อยู่ในใจของคนจำนวนไม่น้อยได้บ้างว ่า ทำไมอัครมหาเศรษฐีทั้งหลาย รวมทั้งบิล เกตส์ จึงไม่หยุดหาเงินเสียที ทั้ง ๆ ที่มีสมบัติมหาศาล ขนาดนั่งกินนอนกินไป ๗ ชาติก็ยังไม่หมด
แต่ถ้าเราอยากจะค้นพบคำตอบให้มากกว่านี้ ก็น่าจะย้อนถามตัวเองด้วยว่า ทำไมถึงไม่หยุดซื้อแผ่นซีดีเสียทีทั้ง ๆ ที่มีอยู่แล้วนับหมื่นแผ่น ทำไมถึงไม่หยุดซื้อเสื้อผ้าเสียทีทั้ง ๆ ที่มีอยู่แล้วเกือบพันตัว ทำไมถึงไม่หยุดซื้อรองเท้าเสียทีทั้ง ๆ ที่มีอยู่แล้วนับร้อยคู่
แผ่นซีดีที่มีอยู่มากมายนั้น บางคนฟังทั้งชาติก็ยังไม่หมด ในทำนองเดียวกัน เสื้อผ้า หรือรองเท้า ที่มีอยู่มากมายนั้น บางคนก็เอามาใส่ไม่ครบทุกตัวหรือทุกคู่ด้วยซ้ำ มีหลายตัวหลายคู่ที่ซื้อมาโดยไม่ได้ใช้เลย แต่ทำไมเราถึงยังอยากจะได้อีกไม่หยุดหย่อน

ใช่หรือไม่ว่า สิ่งที่เรามีอยู่แล้วในมือนั้นไม่ทำให้เรามีความสุขได้มากกว่าส ิ่งที่ได้มาใหม่ มีเสื้อผ้าอยู่แล้วนับร้อยก็ไม่ทำให้จิตใจเบ่งบานได้เท่ากับเสื ้อ ๑ ตัวที่ได้มาใหม่ มีซีดีอยู่แล้วนับพันก็ไม่ทำให้รู้สึกตื่นเต้นได้เท่ากับซีดี ๑ แผ่นที่ได้มาใหม่ ในทำนองเดียวกันมีเงินนับร้อยล้านในธนาคารก็ไม่ทำให้รู้สึกปลาบ ปลื้มใจเท่ากับเมื่อได้มาใหม่อีก ๑ ล้าน
พูดอีกอย่างก็คือ คนเรานั้นมักมีความสุขจากการได้ มากกว่าความสุขจากการ มี มีเท่าไรก็ยังอยากจะได้มาใหม่ เพราะเรามักคิดว่าของใหม่จะให้ความสุขแก่เราได้มากกว่าสิ่งที่ม ีอยู่เดิม

บ่อยครั้งของที่ได้มาใหม่นั้นก็เหมือนกับของเดิมไม่ผิดเพี้ยน แต่เพียงเพราะว่ามันเป็นของใหม่ ก็ทำให้เราดีใจแล้วที่ได้มา
จะว่าไปนี่อาจเป็นสัญชาตญาณที่มีอยู่กับสัตว์หลายชนิดไม่เฉพาะแ ต่มนุษย์เท่านั้น ถ้าโยนน่องไก่ให้หมา หมาก็จะวิ่งไปคาบ แต่ถ้าโยนน่องไก่ชิ้นใหม่ไปให้ มันจะรีบคายของเก่าและคาบชิ้นใหม่แทน ทั้ง ๆ ที่ทั้งสองชิ้นก็มีขนาดเท่ากัน ไม่ว่าหมาตัวไหนก็ตาม ของเก่าที่มีอยู่ในปากไม่น่าสนใจเท่ากับของใหม่ที่ได้มา

ถ้าหากว่าของใหม่ให้ความสุขได้มากกว่าของเก่าจริง ๆ เรื่องก็น่าจะจบลงด้วยดี แต่ปัญหาก็คือของใหม่นั้นไม่นานก็กลายเป็นของเก่า และความสุขที่ได้มานั้นในที่สุดก็จางหายไป ผลก็คือกลับมารู้สึก "เฉย ๆ" เหมือนเดิม และดังนั้นจึงต้องไล่ล่าหาของใหม่มาอีก เพื่อหวังจะให้มีความสุขมากกว่าเดิม แต่แล้วก็วกกลับมาสู่จุดเดิม เป็นเช่นนี้ไม่รู้จบ น่าคิดว่าชีวิตเช่นนี้จะมีความสุขจริงหรือ ?


เพราะไล่ล่าแต่ละครั้งก็ต้องเหนื่อย ไหนจะต้องขวนขวายหาเงินหาทอง ไหนจะต้องแข่งกับผู้อื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ ครั้นได้มาแล้วก็ต้องรักษาเอาไว้ให้ได้ ไม่ให้ใครมาแย่งไป แถมยังต้องเปลืองสมองหาเรื่องใช้มันเพื่อให้รู้สึกคุ้มค่า ยิ่งมีมากชิ้นก็ยิ่งต้องเสียเวลาในการเลือกว่าจะใช้อันไหนก่อน ทำนองเดียวกับคนที่มีเงินมาก ๆ ก็ต้องยุ่งยากกับการตัดสินใจว่าจะไปเที่ยวลอนดอน นิวยอร์ค เวกัส โตเกียว มาเก๊า หรือซิดนีย์ดี

ถ้าเราเพียงแต่รู้จักแสวงหาความสุขจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว ชีวิตจะยุ่งยากน้อยลงและโปร่งเบามากขึ้น อันที่จริงความพอใจในสิ่งที่เรามีนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่เป็นปัญหาก็เพราะเราชอบมองออกไปนอกตัว และเอาสิ่งใหม่มาเทียบกับของที่เรามีอยู่ หาไม่ก็เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เมื่อเห็นเขามีของใหม่ ก็อยากมีบ้าง คงไม่มีอะไรที่จะทำให้เราทุกข์ได้บ่อยครั้งเท่ากับการชอบเปรียบ เทียบตัวเองกับคนอื่น การเปรียบเทียบจึงเป็นหนทางลัดไปสู่ความทุกข์ที่ใคร ๆ ก็นิยมใช้กัน
นิสัยชอบเปรียบเทียบกับคนอื่น ทำให้เราไม่เคยมีความพอใจในสิ่งที่ตนมีเสียที แม้จะมีหน้าตาดี ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองไม่สวย เพราะไปเปรียบเทียบตัวเองกับดาราหรือพรีเซนเตอร์ในหนังโฆษณา

การมองแบบนี้ทำให้ "ขาดทุน" สองสถาน คือนอกจากจะไม่มีความสุขกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว ยังเป็นทุกข์เพราะไม่ได้สิ่งที่อยาก พูดอีกอย่างคือไม่มีความสุขกับปัจจุบัน แถมยังเป็นทุกข์เพราะอนาคตที่พึงปรารถนายังมาไม่ถึง ไม่มีอะไรที่เป็นอุทธาหรณ์สอนใจได้ดีเท่ากับนิทานอีสปเรื่องหมา คาบเนื้อ คงจำได้ว่า มีหมาตัวหนึ่งได้เนื้อชิ้นใหญ่มา ขณะที่กำลังเดินข้ามสะพาน มันมองลงมาที่ลำธาร เห็นเงาของหมาตัวหนึ่ง (ซึ่งก็คือตัวมันเอง) กำลังคาบเนื้อชิ้นใหญ่ เนื้อชิ้นนั้นดูใหญ่กว่าชิ้นที่มันกำลังคาบเสียอีก ด้วยความโลภ (และหลง) มันจึงคายเนื้อที่คาบอยู่ เพื่อจะไปคาบชิ้นเนื้อที่เห็นในน้ำ ผลก็คือเมื่อเนื้อตกน้ำ ชิ้นเนื้อในน้ำก็หายไป มันจึงสูญทั้งเนื้อที่คาบอยู่และเนื้อที่เห็นในน้ำ

บ่อเกิดแห่งความสุขมีอยู่กับเราทุกคนในขณะนี้อยู่แล้ว เพียงแต่เรามองข้ามไปหรือไม่รู้จักใช้เท่านั้น เมื่อใดที่เรามีความทุกข์ แทนที่จะมองหาสิ่งนอกตัว ลองพิจารณาสิ่งที่เรามีอยู่และเป็นอยู่ ไม่ว่า มิตรภาพ ครอบครัว สุขภาพ ทรัพย์สิน รวมทั้งจิตใจของเรา ล้วนสามารถบันดาลความสุขให้แก่เราได้ทั้งนั้น ขอเพียงแต่เรารู้จักชื่นชม รู้จักมอง และจัดการอย่างถูกต้องเท่านั้น
แทนที่จะแสวงหาแต่ความสุขจากการได้ ลองหันมาแสวงหาความสุขจากการ มี หรือจากสิ่งที่ มี ขั้นต่อไปคือการแสวงหาความสุขจากการ ให้ กล่าวคือยิ่งให้ความสุข ก็ยิ่งได้รับความสุข สุขเพราะเห็นน้ำตาของผู้อื่นเปลี่ยนเป็นรอยยิ้ม และสุขเพราะภาคภูมิใจที่ได้ทำความดีและทำให้ชีวิตมีความหมาย จากจุดนั้นแหละก็ไม่ยากที่เราจะค้นพบความสุขจากการ ไม่มี นั่นคือสุขจากการปล่อยวาง ไม่ยึดถือในสิ่งที่มี และเพราะเหตุนั้น แม้ไม่มีหรือสูญเสียไป ก็ยังเป็นสุขอยู่ได้
เกิดมาทั้งที น่าจะมีโอกาสได้สัมผัสกับความสุขจากการ ให้ และ การ ไม่มี เพราะนั่นคือสุขที่สงบเย็นและยั่งยืนอย่างแท้จริง


............พระไพศาล วิสาโล

ส่องกล้องมองคำว่า"ทุกข์"

Image

ส่องกล้องมองคำว่า"ทุกข์"

"ความทุกข์ทั้งหลายที่เป็นความทุกข์ทางใจนี้ เป็นเพราะว่าเรามองดูปรากฏการณ์ในชีวิตด้วยความไม่ชัดเจน"

"ยังไม่สนใจธรรมะ เพราะชีวิตยังไม่มีทุกข์"
คนจำนวนมากคิดเช่นนี้ เพราะคำว่า "ทุกข์" นั้นฟังดูเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสในชีวิต ทั้งที่ความจริงแล้ว ความหมายของคำนี้ในธรรมะของพุทธศาสนามีความละเอียดอ่อนยิ่งนัก หากศึกษาจริงๆ แล้วจะรู้สึกทึ่งและอัศจรรย์ใจในอัจฉริยภาพของตัวผู้ค้นพบยิ่งนัก

จะรู้สึกอย่างไรหากบอกว่าในทุกๆ จังหวะและท่วงทำนองของการดำเนินชีวิตมีทุกข์แฝงอยู่ทุกขณะ
ไม่รู้จัก-อย่ารีบบอกว่าไม่มี
อย่าเพิ่งเถียงถ้ายังไม่ได้คำอธิบายในเรื่องนี้ของ ดร.ระวี ภาวิไล ที่ส่องกล้องมองดูคำว่าทุกข์ได้ละเอียดไม่แพ้การส่องกล้องดูดาวบนท้องฟ้าเลย

"คำว่าปัญหากับความทุกข์ในทางพระพุทธศาสนาใช้แทนกันได้ คำว่าปัญหาเป็นคำสมัยใหม่ เราจะพิจารณาได้ว่าสิ่งที่เราเรียกว่าปัญหานี้คือ ความทุกข์นั่นเอง แต่เวลาพูดความทุกข์จะดูเหมือนหนัก พูดคำว่าปัญหาเป็นเรื่องทันสมัย แล้วเราจะพบว่าสิ่งที่เราต้องแก้ก็คือ ความไม่สะดวกสบายที่ทนได้ยากนั่นเอง

"ตามที่บอกว่าชีวิตเป็นความทุกข์เป็นปัญหานั้น ไม่ใช่ว่าการกล่าวเช่นนั้นเป็นการมองโลกในแง่ร้าย แต่เป็นการกล่าวถึงสภาวะที่เป็นจริงในชีวิตของเรา"

ไม่เชื่อลองฟังต่อไปได้

"นับตั้งแต่เรารู้สึกตัวลืมตาขึ้นวันหนึ่งๆ จะพบปัญหาที่ต้องแก้ถัดกันไป แก้ปัญหานั้นปัญหาใหม่ก็เข้ามาเรื่อย ถ้าจะสังเกตตั้งแต่เช้า ปัญหาทำอย่างไรเราจะมาถึงที่ทำงานได้โดยเรียบร้อย แม้เมื่อถึงที่ทำงานเราจะพบปัญหารออยู่บนโต๊ะ จะต้องแก้อันนั้นอันนี้เรื่อยไป ชีวิตก็จะเป็นอย่างนี้

"ปัญหาหรือความทุกข์ทางกายนี้เป็นส่วนหนึ่ง แต่ส่งที่น่าจะสังเกตได้ก็คือว่า ส่วนใจมันพลอยไปกับกายมากน้อยแค่ไหน ทั้งที่ส่วนใจก็มีความทุกข์ทางใจอยู่แล้ว คือความเศร้าโศก ความคับแค้นใจ ซึ่งส่วนของจิตใจนี้อาจจะเกิดขึ้นเพราะความทุกข์ทางกายทำให้เกิด หรืออาจเกิดแม้ความทุกข์ทางกายไม่มีก็ได้

"นับเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนในสาเหตุ และสาเหตุเหล่านี้ทางพฤติกรรมสามารถวิเคราะห์ได้ว่าเกิดขึ้นมาอย่างไร แล้วก็รู้หนทางที่จะบรรเทามันลงไป"

ในบรรดาความทุกข์ที่แบ่งออกเป็นทางกายและทางใจนั้น อ.ระวีบอกว่า

"ความทุกข์ทางใจเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น แล้วเราจะพบว่ามนุษย์ได้สร้างกลไกขึ้นทั้งในตัวเองและสังคม ทำให้เกิดความกดดันและความทุกข์ทางใจขึ้น โดยคนส่วนใหญ่อาจจะมองข้ามไป หรืออาจจะมองไม่เห็น มันก็กลายเป็นปัญหาหรือเป็นทุกข์ ความทุกข์ทางใจเหล่านี้เป็นสิ่งที่การอบรมและการฝึกฝนใจสามารถทำให้มันระงับไปได้"

ความทุกข์ทางใจเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น-เป็นประเด็นที่ควรให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นวันหนึ่งๆ คนเราทุกข์ทางใจไปโดยสิ้นเปลืองไม่ใช่น้อย

บอกแค่นี้คงไม่ทำให้คิ้วที่ขมวดอยู่คลายออกไปได้ ต้องรับรู้การแจกแจงปฏิบัติการของสิ่งที่เรียกว่าทุกข์เสียก่อน

ทุกข์กาย-ทุกข์ใจแน่

กายไม่ทุกข์-ใจทุกข์ไปล่วงหน้า

"ตัวอย่างความพัวพันระหว่างทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจที่อาจจะได้พบกันในชีวิตประจำวัน สมมุติว่าเราเป็นเด็กไม่สบายแล้วไปหาหมอ หมอบอกว่าเราเป็นไข้หวัด ต้องฉีดยา ถ้าเด็กคนนั้นเคยฉีดยามาหนหนึ่งแล้ว พอบอกต้องฉีดยาอีกมันเกิดทุกข์ขึ้นมาทันที ความทุกข์ที่ได้รับฟังว่าต้องเอาเข็มมาแทงลงไปในเนื้อ ในขณะนั้นทุกข์ทางกายยังไม่ได้เกิด แต่ทุกข์ทางใจเกิดขึ้นแล้ว อาจจะเริ่มมีอาการเป็นทุกข์ เริ่มน้ำตาคลอ พอหมอเอาเข็มฉีดยาดูดยาออกมาจากหลอดก็เริ่มจะมีความทุกข์ทางกายบ้าง แต่ไม่เจ็บ น้ำตาไหลได้

"เราเป็นผู้ใหญ่รู้สึกแต่คงไม่ถึงกับน้ำตาไหล เห็นหมอทำอย่างนั้นเราก็เริ่มรู้สึก หมอเอาเข็มฉีดยามาบีบยาให้ยามันไล่ แล้วก็เอามาจรดลง แล้วลองนึกทบทวนดูว่าเรารู้สึกอย่างไร จะรู้สึกไม่สบายใจ หมอเริ่มกดเข็ม บางครั้งเราก็มอง บางครั้งเราก็ไม่อยากมอง ลองมองดูและลองพิจารณาดูตอนที่เข็มมันจรด ความทุกข์ทางกายยังไม่เกิดขึ้น แต่เรามีความไม่สบายใจ พอหมอกดเข็มเข้าไปในเนื้อเรา นึกว่าเราเจ็บ แต่ที่จริงถ้าเราเพ่งใจลงไปในขณะเข็มกดลงไปในเนื้อ จะพบว่ามันยังไม่เจ็บ ความทุกข์ทางกายยังไม่มี แต่เมื่อเข็มมันลงไปลึกพอประมาณแล้ว และเมื่อหมอเริ่มกดยาเข้าไป ความเจ็บมันจะมี

"ถ้ามีสติอยู่กับปัจจุบัน เจ็บที่แล้วไปอย่าไปนึกถึงมันอีก เจ็บที่กำลังเจ็บดูมัน เจ็บที่ยังไม่มา อย่าเพิ่งไปเจ็บก่อน เราจะพบว่าความเจ็บได้เป็นทุกข์ก้อนใหญ่ที่เราจะต้องแบกไว้ แต่ความเจ็บนั้นมันเป็นชั่วขณะๆ พอหมอถอนเข็มออกแล้วขยี้ตอนนั้นเราจะเจ็บมากชั่วขณะ แล้วก็จะชา แต่ถ้าเราไม่ทำอย่างนั้นจะรู้สึกว่าความเจ็บจริงๆ กับความที่ใจเราเป็นทุกข์มันปนเปกันไปหมด ไม่รู้ส่วนไหนเป็นทุกข์ทางกาย ส่วนไหนเป็นทุกข์ทางใจ

"ถ้าเป็นเด็ก เด็กจะร้องก่อนเข็มจะถูก เมื่อถูกเข็มแทงก็ร้องลั่น พอหมอถอนเข็มออกก็ยังร้องอยู่ เพราะโกรธหมอ นี่คือตัวอย่างที่ยกขึ้นมาเพื่อให้เห็นกลไกของสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์"

"ความทุกข์ทั้งหลายที่เป็นความทุกข์ทางใจนี้ เป็นเพราะว่าเรามองดูปรากฏการณ์ในชีวิตด้วยความไม่ชัดเจน ทำอย่างไรจะเห็นสภาวะชัดเจน ทำอย่างไรจะรู้ทัน"
โจทย์นี้หาคำตอบได้ไม่ยาก!


**********
คอลัมน์ ร้อยเหลี่ยมพันมุม

โดย วีณา โดมพนานคร

มติชนรายวัน วันอาทิตย์ ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10487